ความจริงของชีวิต

1.  แนวคิดเรื่องความจริงของชีวิต
     ความจริงของชีวิต เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องประสบอย่างแน่นอน ไม่มีทางหลีกหนี ไปได้ เพราะเป็นกฎธรรมชาติ และเป็นธรรมดาของทุกชีวิต ที่ทุกคนควรศึกษา และทำความเข้าใจดังนี
1.1 ความหมายและประเภทของความจริงของชีวิต
         ความจริงของชีวิต หมายถึง สภาพธรรมที่เป็นจริง สภาพของธรรมชาติ หรือกฎของธรรมชาติที่เป็นอยู่จริง เป็นปรากฏการณ์ ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ที่ทุกชีวิต ต้องประสบ ต้องเป็น โดยไม่มีทางหลีกหนีได้ เช่น ความไม่คงที่ การเปลี่ยนแปลง การเกิดดับของชีวิต การแปรเปลี่ยนของทุกสิ่ง ซึ่งเป็นความจริงตามหลักธรรม หรือ ความจริงโดยปรมัตถ์ แบ่งได้ 2 ประเภท คือ (มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. 2549 : 169)
       1.1.1  สภาวะสัจจะ  หมายถึง ความจริงโดยสภาวะเป็นสภาพของธรรมชาติ ที่มีอยู่จริง ธรรมชาติที่มีปรากฏอยู่จริง มีลักษณะพิเศษเฉพาะของตน เช่น ลักษณะ ของชีวิต ลักษณะของสี กลิ่น รส เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ก็ย่อมมีลักษณะแตกต่างกัน ความโกรธ มีลักษณะที่ไม่พอใจ ความเมตตา มีลักษณะที่อ่อนโยน เป็นต้น
        1.1.2  อริยสัจ หมายถึง ความจริงที่ไม่คลาดเคลื่อน ไม่กลายเป็นอย่างอื่น เป็นความจริงของพระอริยบุคคลเท่านั้น ซึ่งเป็นคำสอน ที่ครอบคลุมหลักทั้งหมด ในพุทธธรรม เป็นวิธีการแห่งปัญญา เป็นการแก้ปัญหา และจัดการกับชีวิต ด้วยปัญญา ของมนุษย์เอง เป็นความจริง ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของคนทุกคน และเป็น ความจริงกลาง ๆ ที่ติดอยู่กับชีวิต หรือเป็นเรื่องของชีวิตเองแท้ ๆ เป็นหลักความจริง ที่ยืนยง และใช้ประโยชน์ได้ตลอดกาล
1.2  จุดมุ่งหมายของการศึกษาความจริงของชีวิต
         การศึกษาเรื่องความจริงของชีวิตนี้ เพื่อจุดมุ่งหมายที่สำคัญ 3 ประการ เปรียบเสมือนบันได 3 ขั้น เพื่อก้าวพ้นจากความทุกข์ เข้าไปสู่ ความสุขที่แท้จริง ของชีวิต ดังนี้
1.2.1  การรู้เท่าทันความจริงของชีวิต  คนโดยมากเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในชีวิต โดยเฉพาะถ้าการเปลี่ยนแปลงนั้น ไม่น่าปรารถนา ก็จะมีความรู้สึกตกใจ และ หวาดกลัวก่อน เพราะไม่เคยคิดพิจารณา แต่ถ้าเขารู้จักคิดพิจารณามองด้วย ความรู้เท่าทัน เห็นเป็นธรรมดาของชีวิต จิตใจเขาจะเริ่มมีความเป็นธรรมดา กับความจริงนั้น
1.2.2 การยอมรับความจริงของชีวิต  เมื่อบุคคลรู้เท่าทันความจริงแล้ว จิตใจเขาจะเข้าใจในความเป็นธรรมดากับความจริงนั้น ทำให้เขารับหน้า และเผชิญกับสภาพความเปลี่ยนแปลงนั้นได้เป็นอย่างดี คือ ไม่ว่าจะคิด จะนึก ถึงเรื่องนั้น จิตใจก็สบายได้ เพราะสิ่งนี้เป็นความจริง ที่ทุกชีวิตต้องพบ ไม่มีใครหลีกหนีได้ จึงสามารถยอมรับความจริงได้ ด้วยจิตใจที่เป็นปกติ
1.2.3  การอยู่กับความจริงได้อย่างปกติสุข  เมื่อบุคคลรู้เท่าทัน ความจริง ของชีวิต และยอมรับความจริงตามกฎของธรรมชาติได้แล้ว ในที่สุดก็สามารถ อยู่กับความจริงนั้น ทำใจให้อยู่กับความจริงได้ตลอดเวลา โดยความจริงนั้น ไม่มากระทบกระเทือนจิตใจของเรา ทำให้เราสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุข ด้วยเหตุนี้การรู้และเข้าใจความจริงของชีวิตนั่นแหละ จะทำให้เรามีจิตใจที่สบาย เบิกบานผ่องใสตลอดเวลา คือ ความสุขที่แท้จริงนั่นเอง   สรุปดังภาพที่ 2.1
1.3 ประโยชน์ของการศึกษาความจริงของชีวิต

     ความรู้เกี่ยวกับความจริงของชีวิต หรือกฎธรรมชาตินี้เป็นความจริง ที่เราทั้งหลาย จะต้องศึกษา และทำความเข้าใจที่ถูกต้องไว้ เพราะมีแต่ประโยชน์ แม้จะเป็นกฎธรรมชาติ ในส่วนที่ไม่ถูกใจเรา ไม่น่าปรารถนา เราก็ต้องรู้ เพื่อจะได้ปฏิบัติตามได้ถูกต้อง ความรู้ ในความจริงของชีวิต หรือกฎธรรมชาตินี้ มีประโยชน์อย่างมาก สรุปสาระสำคัญได้ 3 ประการ คือ

     1.3.1 ช่วยให้ปฏิบัติตามได้ถูกต้อง เป็นการนำความรู้ ในกฎธรรมชาติ มาสนองความต้องการ ของตนเอง  เพื่อจะได้ดำรงชีวิตอยู่ด้วยดี ไม่ให้เกิดทุกข์โทษ โดยการปฏิบัติตามกฎธรรมชาติ  ด้วยความรู้ เพียงปฏิบัติตามเท่านั้น เมื่อปฏิบัติตามนั้น ได้ถูกต้อง สอดคล้องกันดี ชีวิตของเราก็จะเป็นไปด้วยดี ชีวิตมีความกลมกลืน ราบรื่น ตรงกันข้าม ถ้าไม่รู้จักกฎธรรมชาติ และปฏิบัติตามกฎธรรมชาติไม่ได้ ชีวิตก็จะมีความขัดข้อง เดือดร้อน ทุกข์ใจ แต่พอรู้จักกฎธรรมชาติ หรือความจริงของชีวิต และปฏิบัติตามกฎธรรมชาติ  ชีวิตก็เป็นไปได้ดีขึ้น

     1.3.2 ช่วยให้นำมาสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ในชีวิต โดยนำความรู้จาก หลักความจริง ของชีวิต หรือกฎธรรมชาตินั้น มาจัด มาทำ ปรุงแต่ง และประดิษฐ์สิ่งต่าง ๆ ในชีวิต ให้เกิดประโยชน์ขึ้นมา ตามที่ต้องการ เช่น การนำกฎธรรมชาติ เรื่องการต้มน้ำแล้วเกิดไอน้ำ คนเราก็คิดประดิษฐ์ เครื่องจักรกลที่ใช้ไอน้ำ เพื่อเป็นพลังขับเคลื่อน ไปใช้กับรถไฟ เพื่อเกิดประโยชน์ ในชีวิตประจำวันได้อีกมากมาย ในทำนองเดียวกัน เรารู้ความจริงของชีวิตว่า ทุกคนต้องตาย เราก็คิดประดิษฐ์ดอกไม้จันทน์ ที่ต้องใช้ในงานศพ เพื่อหารายได้ มาใช้ในชีวิตประจำวันได้ เป็นต้น
     1.3.3 ช่วยให้เข้าใจเหตุผล รู้เท่าทันชีวิต  รู้เท่าทันธรรมชาติ หรือธรรมดาแห่งชีวิตตน มีความเข้าใจเกี่ยวกับชีวิต และความจริงของกฎธรรมชาติ มองเห็นความจริงของชีวิต ความเป็นอยู่ของตน ว่าไม่คงที่แน่นอน มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา สามารถวางตัว และทำใจได้ถูกต้อง ทำให้มีความสุข ไร้ทุกข์อย่างแท้จริง  สรุปดังภาพที่  2.2

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น